เมนู

พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ [6. ฉัฏฐวรรค] 7. อากาโสสนิทัสสโนติกถา (59)
สก. สภาวธรรมที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งก็กลายเป็นสภาวธรรมที่ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง
ได้ใช่ไหม
ปร. ไม่ควรกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
สก. เมื่อถมบ่อน้ำเปล่า บรรจุฉางเปล่า หม้อเปล่าให้เต็มอยู่ อากาศหายไป
ได้ใช่ไหม
ปร. ใช่
สก. สภาวธรรมที่ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่งหายไปได้ใช่ไหม
ปร. ไม่ควรกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
[462] ปร. ท่านไม่ยอมรับว่า “อากาศเป็นสภาวธรรมที่ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง”
ใช่ไหม
สก. ใช่
ปร. อากาศเป็นสภาวธรรมที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งใช่ไหม
สก. ไม่ควรกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
ปร. ดังนั้น อากาศจึงเป็นสภาวธรรมที่ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง
อากาสกถา จบ

7. อากาโสสนิทัสสโนติกถา (59)
ว่าด้วยอากาศเป็นสภาวธรรมที่เห็นได้
[463] สก. อากาศเป็นสภาวธรรมที่เห็นได้ใช่ไหม
ปร.1 ใช่2
สก. อากาศเป็นรูป เป็นรูปายตนะ เป็นรูปธาตุ เป็นสีเขียว สีเหลือง สีแดง
สีขาว เป็นวิสัยแห่งจักขุวิญญาณ กระทบที่จักษุ มาสู่คลองจักษุได้ใช่ไหม
ปร. ไม่ควรกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ

เชิงอรรถ :
1 ปร. หมายถึงภิกษุในนิกายอันธกะ (อภิ.ปญฺจ.อ. 463-464/220)
2 เพราะมีความเห็นว่า อากาศชนิดที่ 3 (อัชฌัตตากาศ) เป็นสภาวธรรมที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งต่างกับ
ความเห็นของสกวาทีที่เห็นว่า อัชฌัตตากาศจริง ๆ ก็เห็นไม่ได้ ที่เห็นได้ก็เพราะมีสิ่งอื่น เช่น ช่องหน้าต่าง
เป็นตัวกำหนด (อภิ.ปญฺจ.อ. 463-464/220)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 37 หน้า :493 }


พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ [6. ฉัฏฐวรรค] 7. อากาโสสนิทัสสโนติกถา (59)
สก. อากาศเป็นสภาวธรรมที่เห็นได้ใช่ไหม
ปร. ใช่
สก. เพราะอาศัยจักษุและอากาศ จึงเกิดจักขุวิญญาณใช่ไหม
ปร. ไม่ควรกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
สก. เพราะอาศัยจักษุและอากาศ จึงเกิดจักขุวิญญาณใช่ไหม
ปร. ใช่
สก. พระสูตรที่ว่า “เพราะอาศัยจักษุและอากาศ จึงเกิดจักขุวิญญาณ” มีอยู่
จริงหรือ
ปร. ไม่มี
สก. พระสูตรที่ว่า “เพราะอาศัยจักษุและรูป จึงเกิดจักขุวิญญาณ”1 มีอยู่จริง
ใช่ไหม
ปร. ใช่
สก. หากพระสูตรว่า “เพราะอาศัยจักษุและรูป จึงเกิดจักขุวิญญาณ”
มีอยู่จริง ท่านก็ไม่ควรยอมรับว่า “เพราะอาศัยจักษุและอากาศ จึงเกิดจักขุวิญญาณ”
[464] ปร. ท่านไม่ยอมรับว่า “อากาศเป็นสภาวธรรมที่เห็นได้” ใช่ไหม
สก. ใช่
ปร. ท่านเห็นช่องของต้นไม้ 2 ต้น ช่องเสา 2 ต้น ช่องลูกดาล ช่องหน้าต่าง
มิใช่หรือ
สก. ใช่
ปร. หากท่านเห็นช่องของต้นไม้ 2 ต้น ช่องเสา 2 ต้น ช่องลูกดาล
ช่องหน้าต่างได้ ดังนั้น ท่านจึงควรยอมรับว่า “อากาศเป็นสภาวธรรมที่เห็นได้”

โอกาโสสนิทัสสโนติกถา จบ

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ ม.มู. (แปล) 12/400/431, ม.อุ. (แปล) 14/421/479

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 37 หน้า :494 }